หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

มะลิ  


มะลิลา มีชื่อวิทยาศาตร์ว่า Jasminum sambac
              ต้นมีลักษณะเป็นพุ่ม แต่จัดเป็นไม้รอเลื้อย เพราะมีกิ่งกึ่งอ่อนและกิ่งกึ่งแก่ ที่อาจจะยืดตัวพันกับสิ่งอื่นได้ กิ่งอ่อนและกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่มีขน ใบเป็นใบเดี่ยว ใบออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ใบเป็นรูปไข่ ขอบเรียบ สามารถออกดอกได้เกือบตลอดทั้งปี แต่จะออกดอกมากในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน ออกดอกเป็นช่อๆ ละ 3 ดอก ดอกกลางบานก่อน กลีบดอกชั้นเดียว ปลายกลีบมน ดอกมีสีขาว กลิ่นหอม มักจะเริ่มขยายกลีบและส่งกลิ่นหอมในช่วงเวลาเย็น 




มะลิลาซ้อน 
              มีลักษณะต้น ใบ และอื่นๆ คล้ายกับมะลิลามาก แต่ใบมีขนาดใหญ่กว่า ออกดอกเป็นช่อ ๆ ละ 3 ดอก มีกลิ่นหอม และดอกกลางบานก่อนเช่นกัน แต่มะลิลาซ้อนจะมีดอกซ้อนกันประมาณ 3-4 ชั้น ปลายกลีบมน ดอกมีขนาดประมาณ 3 – 3.5 เซนติเมตร


มะลิถอด 
              ลักษณะโดยทั่วไปทั้งต้น ใบ การจัดเรียงของใบและรูปแบบของใบจะคล้ายกับมะลิลาซ้อน แต่ใบของมะลิถอดจะเป็นคลื่นและใหญ่กว่า ออกดอกเป็นช่อ ๆ ละ 3 ดอก ดอกจะซ้อนกันมากกว่าคือ 3-6 ชั้น ดอกมีสีขาว มีกลิ่นหอมมาก
ขนาดดอกประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร





มะลิซ้อน 
              ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายมะลิถอดและมะลิลาซ้อน แต่ใบจะมีลักษณะแคบกว่า ออกดอกเป็นช่อ ๆ ละ 3 ดอก กลีบดอกจะซ้อนกันมากกว่า 5 ชั้น และแต่ละชั้นจะมีกลีบดอกตั้งแต่ 10 กลีบขึ้นไป ดอกมีสีขาว และมีกลิ่นหอมมาก ขนาดดอกประมาณ 
3-4 เซนติเมตร


มะลิพิกุลหรือมะลิฉัตร 
            ลักษณะโดยทั่ว ๆไปคล้ายกับมะลิทั้งสี่ชนิดที่กล่าวมาแล้ว ใบคล้ายมะลิซ้อนและมีคลื่นเล็กน้อย ออกดอกเป็นช่อ ๆ ละ 3 ดอก กลีบดอกจะซ้อนกันเป็นชั้นๆ เห็นได้ชัดเจนมีลักษณะคล้ายฉัตร จึงมักเรียกว่า มะลิฉัตร ดอกมีสีขาว กลิ่นหอม ดอกมีขนาดเล็กเท่าดอกพิกุลคือมีขนาดประมาณ 1-1.4 เซนติเมตร


 มะลิพวง 
            ลักษณะลำต้นเป็นไม้พุ่ม มีขนที่บริเวณกิ่งอ่อนและกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ ลักษณะใบและรูปแบบของใบ ตลอดจนการจัดเรียงของใบจะคล้ายกับมะลิชนิดอื่นๆ แต่ที่ใบจะมีขนเห็นเด่นชัดออกดอกเป็นช่อแน่น ดอกสีขาว กลิ่นหอมมาก กลีบดอกมีชั้นเดียว กลีบดอกเล็กยาวและปลายแหลม ขนาดดอกประมาณ 3-4.5 เซนติเมตร


ข้อมูลจากhttp://www.rakbankerd.com/agriculture/page?id=416&s=tblplant

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

ดอกบัว

บัว เป็นพืชน้ำล้มลุก ลักษณะลำต้นมีทั้งที่เป็นเหง้า ไหล หรือหัว ใบเป็นใบเดี่ยวเจริญขึ้นจากลำต้น โดยมีก้านใบส่งขึ้นมาเจริญที่ใต้น้ำ ผิวน้ำหรือเหนือน้ำ รูปร่างของใบส่วนใหญ่กลมมีหลายแบบ บางชนิดมีก้านใบบัว

บัวเป็นราชินีแห่งไม้น้ำ จัดเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่ถือเป็นสัญญลักษณ์ของคุณงามความดี บัวหลวงชอบขึ้นในน้ำจืดออกดอกตลอดปี ชอบน้ำสะอาด อยู่ในน้ำลึกพอสมควร ถิ่นกำเนิดของบัวอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จะเริ่มบานตั้งแต่ตอนเช้า ก้านดอกยาวมีหนามเหมือนก้านใบ ชูดอกเหนือน้ำ และชูสูงกว่าใบเล็กน้อย กลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ สีขาวอมเขียวหรือสีเทาชมพู ร่วงง่าย กลีบดอกจำนวนมากเรียงซ้อนหลายชั้น เกสรตัวผู้มีจำนวนหลายสี

บัวที่พบและนิยมปลูกในประเทศไทย มาจาก 3 สกุล คือ

บัวหลวง (lotus) เป็นบัวในสกุล Nelumbo มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า ปทุมชาติ หรือบัวหลวง
บัวผัน, บัว(กิน)สาย (waterlily) เป็นบัวในสกุล Nymphaea มีลำต้นใต้ดินเป็นหัว หรือเหง้า ใบและดอกเกิดจากตาหรือหน่อที่เจริญขึ้นมาที่ผิวน้ำด้วยก้านส่งใบและยอด
บัววิกตอเรีย (Victoria) เป็นบัวในสกุล Victoria มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า บัวกระด้ง จัดเป็นบัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พ.ศ. 2551 ค้นพบสายพันธุ์บัวสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่พิพิธภัณฑ์บัว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี ได้ตั้งชื่อว่า "ธัญกาฬ" และ "รินลอุบล"

บัวปรากฏในนิราศธารโศก พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ (เจ้าฟ้ากุ้ง)

บัวบานในคงคา
นึกผ้าสีบัวโรยบาง
นวลละอองอ่องขลิบนาง
น้องเราห่มลอยชายงาม
นิราศธารโศก - พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
ในสัญลักษณ์ และความเชื่อ
บัวมีมาตั้งแต่ สมัยพุทธกาล ซึ่งมีตำนานกล่าวว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้ปรุงยาจากดอกบัว ถวายแด่ องค์สมเด็จพระพุทธเจ้า แก้อาการอ่อนเพลีย ถือว่าดอกบัวเป็น ดอกไม้ประจำศาสนาพุทธ ตามพุทธประวัติพบว่า บัวมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพาน เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเมื่อ ได้ทรงตรัสรู้แล้ว แต่เนื่องจากพระธรรมที่พระองค์ทรงบรรลุนั้นมีความละเอียดอ่อน สุขุมคัมภีรภาพ ยากต่อบุคคลจะรู้ เข้าใจและปฏิบัติได้ ทรงพิจารณาอย่างลึกซึ้ง แล้วทรงเห็นว่าบุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก บางพวกสอนได้ บางพวกสอนไม่ได้ เปรียบเสมือนบัวสี่เหล่า

คนไทยส่วนใหญ่มักจะใช้ดอกบัว ในการบูชาพระอยู่เสมอ แต่บัวที่เรานิยมปลูกไว้ภายในบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล คือ บัวหลวง บัวผัน บัวฝรั่ง บัวสาย และบัวกระด้ง

ความเชื่อในทางพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยโบราณว่า ดอกบัวก็เหมือนกับคนเรานี้เอง ดอกบัวที่ชูดอกพ้นจากผิวน้ำขึ้นมารับแสงสว่างได้นั้น ก็เหมือนกับ ผู้ที่หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง กลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม ซึ่งถือเป็นความหมายอันลึกซึ้ง และเป็นมงคลยิ่งนัก

คนโบราณจึงมึความเชื่อว่า ครอบครัวใดที่ปลูกบัวเอาไว้ประจำบ้าน ก็จะช่วยให้คนครอบครัวนั้น มีจิตใจที่บริสุทธิ์ สะอาด และเบิกบานแจ่มใส เช่นเดียวกับดอกบัว และยังเชื่ออีกว่า สายใยของบัวที่ยืดยาวนั้น คือสายสัมพันธ์ของครอบครัว จะทำให้ทุกคนมีความห่วงใยรักใคร่ และผูกพันต่อกันอย่างแนบแน่น ครอบครัวนั้น ก็จะมีแต่ความสุข เพราะความรักใคร่ปรองดองของคนในครอบครัวทุกคน

ควรปลูกต้นบัวในวันพุธ เพราะวันพุธนั้น เหมาะสำหรับการปลูกต้นไม้ที่ให้ดอกสวยงาม ต้นบัวที่ปลูกในวันพุธ จะทำให้บัวผลิดอกบานสะพรั่งงดงามไปทั่วทั้งสระ

ผู้ที่เหมาะที่จะปลูกบัวมากที่สุด คือ ผู้ที่เกิดปีจอ เพราะต้นบัวนั้น เป็นต้นไม้ประจำปีของคนเกิดปีจอ หากผู้ที่เกิดปีจอเป็นผู้ปลูก และมีผู้ที่เกิดปีเดียวกันอาศัยอยู่ภายในบ้าน ก็จะช่วยเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้มากยิ่งขึ้นไปอีก (ถ้าไม่มีผู้ที่เกิดปีจอ ก็ควรให้หัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ปลูกก็ได้)[ต้องการอ้างอิง]

การดูแลรักษา
ปลูกบัวทางทิศตะวันตก เจริญงอกงามมากกว่าการปลูกบัวทางทิศอื่นๆ

ดอกกุหลาบชนิดต่างๆ



ตำนานดอกกุหลาบ
กุหลาบเป็นดอกไม้ที่นิยมปลูกไว้ชื่นชมมาแต่โบราณ ประมาณกันว่ากุหลาบเกิดขึ้นเมื่อกว่า 70 ล้านปีมาแล้ว เคยมีการค้นพบฟอสซิลของกุหลาบใน รัฐโคโลราโด และ รัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้พิสูจน์ว่ากุหลาบป่าเป็นพืชที่มีอายุถึง 40 ล้านปี แต่กุหลาบป่าสมัยโลกล้านปีนี้ มีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกุหลาบสมัยนี้ เนื่องจากมนุษย์ได้นำเอากุหลาบป่ามาปลูกและผสมพันธุ์ ขยายพันธุ์เป็นพันธุ์ต่างๆ มากมาย
ความจริงแล้วกำเนิดของกุหลาบหรือกุหลาบป่านี้มีเฉพาะในแถบบริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตรของโลกเท่านั้น คือกำเนิดในภาคกลางของทวีปเอเชีย แล้วแพร่ขยายพันธุ์ไปตลอดซีกโลกเหนือ ไม่ว่าจะเป็นแถบที่มีอากาศหนาวจัดอย่าง อาร์กติก อลาสก้า ไซบีเรีย หรือแถบอากาศร้อนอย่าง อินเดีย แอฟริกาเหนือ แต่ในบริเวณแถบใต้เส้นศูนย์สูตรอย่างทวีปออสเตรเลีย หรือเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรรวมทั้งแอฟริกาใต้ ไม่เคยมีปรากฏว่ามีกุหลาบป่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเลย
ตามประวัติศาสตร์เล่าว่า กุหลาบป่าถูกนำมาปลูกไว้ในพระราชวังของจักรพรรดิจีน ในสมัยราชวงศ์ฮั่นราว 5,000 ปีมาแล้ว ขณะที่อียิปต์เองก็ปลูกกุหลาบเป็นไม้ดอก ส่งไปขายให้แก่ชาวโรมัน ชาวโรมันเป็นชาติที่รักดอกกุหลาบมากถึงจะสั่งซื้อจากประเทศอียิปต์แล้ว ยังลงทุนสร้างเนอร์สเซอรี่ขนาดใหญ่สำหรับปลูกดอกกุหลาบอีกด้วย สำหรับชาวโรมันแล้วเรียกได้ว่าดอกกุหลาบมีความสำคัญกับชีวิตประจำวัน เพราะชาวโรมันถือว่าดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ซึ่งเป็นทั้งของขวัญ เป็นดอกไม้สำหรับทำเป็นมาลัยต้อนรับแขก เป็นดอกไม้สำหรับงานเฉลิมฉลองต่างๆ ใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับทำขนม ทำไวน์ ส่วนน้ำมันกุหลาบยังใช้ทำเป็นยาได้อีกด้วย
กุหลาบถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและความโรแมนติก ซึ่งมีบางตำนานเล่าว่า ดอกกุหลาบเป็นเสมือนเครื่องหมายแทนการกำเนิดของ เทพธิดาวีนัส ซึ่งเป็นเทพแห่งความงาม และความรัก วีนัสเป็นที่รู้จักกันในชื่อ อโฟรไดท์ ในตำนานเทพของกรีกได้กล่าวไว้ว่า น้ำตาของเธอหยดลงปะปนกับเลือดของ อคอนิส คนรักของเธอที่ถูกหมูป่าฆ่า เลือดและน้ำตาหยดลงสู่พื้นแล้วกลายเป็นดอกไม้สีแดงเข้มหรือดอกกุหลาบนั่นเอง แต่บางตำนานก็เล่าว่าดอกกุหลาบเกิดจากเลือดของ อโฟรไดท์ เองที่หยดลงสู่พื้น เมื่อเธอแทงตัวเองด้วยหนามแหลม
บางตำนานกล่าวว่ากุหลาบเกิดจากการชุมนุมของบรรดาทวยเทพ เพื่อประทานชีวิตใหม่ให้กับนางกินรีนางหนึ่ง ซึ่งเทพธิดาแห่งบุปผาชาติ หรือ คลอริส บังเอิญไปพบนางนอนสิ้นชีพอยู่ ในตำนานนี้กล่าวว่า อโฟรไดท์ เป็นเทพผู้ประทานความงามให้ มีเทพอีกสามองค์ประทานความสดใส เสน่ห์ และความน่าอภิรมย์ และมี เซไฟรัส ซึ่งเป็นลมตะวันตกได้ช่วยพัดกลุ่มเมฆ เพื่อเปิดฟ้าให้กับแสงของเทพ อพอลโล หรือแสงอาทิตย์ส่องลงมาเพื่อประทานพรอมตะ จากนั้น ไดโอนีเซียส เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่นก็ประทานน้ำอมฤต และกลิ่นหอม เมื่อสร้างบุปผาชาติดอกใหม่นี้ขึ้นมาได้แล้ว เทพทั้งหลายก็เรียกดอกไม้ซึ่งมีกลิ่นหอมและทรงเสน่ห์นี้ว่า Rosa จากนั้น เทพธิดาคลอริส ก็รวบรวมหยดน้ำค้างมาประดับเป็นมงกุฎ เพื่อมอบให้ดอกไม้นี้เป็นราชินีแห่งบุปผาชาติทั้งมวล จากนั้นก็ประทานดอกกุหลาบให้กับเทพ อีโรส ซึ่งเป็นเทพแห่งความรัก กุหลาบจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรัก แล้วเทพ อีโรส ก็ประทานกุหลาบนี้ให้แก่ ฮาร์โพเครติส ซึ่งเป็นเทพแห่งความเงียบ เพื่อที่จะเก็บซ่อนความอ่อนแอของทวยเทพทั้งหลาย ดอกกุหลาบจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเงียบและความเร้นลับอีกอย่างหนึ่ง
กุหลาบกลายเป็นของขวัญ ของกำนัลสำหรับการแสดงความรัก และมักจะมีผู้เปรียบเทียบความงามของผู้หญิงเป็นเสมือนดอกกุหลาบ และผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์โลกที่ได้รับสมญาว่าเป็นผู้หญิงงามเสมือนดอกกุหลาบคือ พระนางคลีโอพัตรา ซึ่งพระนางยังได้เคยต้อนรับ มาร์ค แอนโทนี คนรักของพระนาง ในห้องซึ่งโรยด้วยดอกกุหลาบหนาถึง 18 นิ้ว หอมฟุ้งไปด้วยกลิ่นกุหลาบ

ตำนานดอกกุหลาบในเมืองไทย
กุหลาบมาจากคำว่า "คุล" ในภาษาเปอร์เชีย แปลว่า "สีแดง ดอกไม้ หรือดอกกุหลาบ" และเข้าใจว่าจากเปอร์เซียได้แพร่เข้าไปในอินเดีย เพราะในภาษาฮินดีมีคำว่า "คุล" แปลว่า "ดอกไม้" และคำว่า "คุลาพ" หมายถึงกุหลาบอย่างที่ไทยเราเรียกกัน แต่ออกเสียงเป็น "กุหลาบ" ส่วนคำว่า "Rose" ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากคำว่า "Rhodon" ที่แปลว่ากุหลาบในภาษากรีก
กุหลาบเข้ามาเมืองไทยสมัยใดไม่ทราบแน่ชัด แต่จากบันทึกของ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่าได้เห็นกุหลาบที่กรุงศรีอยุธยา และที่แน่นอนอีกแห่งก็คือ ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กล่าวถึงกุหลาบไว้ว่า
กุหลาบกลิ่นเฟื่องฟุ้ง
หอมรื่นชื่นชมสอง
นึกกระทงใส่พานทอง
หยิบรอจมูกเจ้า เนืองนอง
สังวาส
ก่ำเก้า
บ่ายหน้าเบือนเสีย

สำหรับตำนานดอกกุหลาบของไทยเล่ากันว่า เป็นบทละครพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เรื่อง มัทนะพาธา ในเรื่องเล่าถึงเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ "มัทนา" ซึ่งนางได้มีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ "สุเทษณะ" ซึ่งพระองค์ทรงหลงรักเทพธิดา "มัทนา" มากแต่นางไม่มีใจรักตอบ จึงถูกสาบให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ จึงกลายเป็นตำนานดอกกุหลาบแต่นั้นมา

กุหลาบขาว กับ กุหลาบแดง สีไหนเกิดก่อน ?
มีหลายตำนานเล่าถึงการเกิดกุหลาบสีขาวและกุหลาบสีแดงไว้แตกต่างกัน ตำนานหนึ่งเล่าว่า กุหลาบขาว เกิดขึ้นก่อน กุหลาบแดง เดิมทีมีนกไนติงเกลตัวหนึ่งมาหลงรักเจ้าดอกกุหลาบขาวแสนสวย ขณะที่มันกำลังจะโอบกอดดอกกุหลาบด้วยความรักนั้นเอง หนามกุหลาบก็ทิ่มแทงที่หน้าอกของมัน หยดเลือดของเจ้านกไนติงเกลเลยทำให้ดอกกุหลาบสีขาวกลายเป็นสีแดง เลยมีดอกกุหลาบสีแดงนับแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนอีกตำนานหนึ่งก็เล่าว่ากุหลาบสีแดงใน สวนอีเดน เกิดจาการจุมพิตของ อีฟ เจ้าดอกกุหลาบขาวที่หญิงสาวจุมพิต เลยเกิดอาการขวยเขินจึงเปลี่ยนเป็นสีแดง
นอกจากนี้ ความหมายของความรักในศาสนาคริสต์ ถือว่ากุหลาบสีขาวแทนความบริสุทธิ์ของ พระแม่มาเรีย และกุหลาบสีแดงเกิดจากหยาดพระโลหิตของ พระเยซูเจ้า เมื่อถูกสวมมงกุฎหนาม มันจึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ประกาศศาสนาที่พลีชีพเพื่อพระผู้เป็นเจ้า

สีกุหลาบสื่อความหมาย
ในวันวาเลนไทน์ ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก ดอกกุหลาบถือเป็นสัญลักษณ์ และของกำนัลของวันนี้ ดังนั้นเวลาที่คิดจะให้ดอกกุหลาบแก่ใครสักคน เราก็น่าจะรู้ความหมายของสีอันเป็นสื่อความหมายของดอกกุหลาบไว้บ้างก็น่าจะดี ซึ่งก็จะมีความดังนี้
สีแดง สื่อความหมายถึง ความรักและความปรารถนา เป็นดอกไม้ของกามเทพ คิวปิด และอีรอส เป็นสิ่งนำโชคนำความรักมาให้แก่หญิงหรือชายที่ได้รับ
สีชมพู สื่อความหมายถึง ความรักที่มีความสุขอย่างสมบูรณ์
สีขาว สื่อความหมายถึง ความมีเสน่ห์ ความบริสุทธิ์ มิตรภาพ และความสงบเงียบ และนำโชคมาให้แก่หญิงหรือชายเช่นเดียวกับกุหลาบแดง
สีเหลือง สื่อความหมายถึง เราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอนะ
สีขาวและแดง สื่อความหมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
กุหลาบตูม สื่อความหมายถึง ความงามและความเยาว์วัย


ช่อกุหลาบสื่อความหมาย
จำนวนดอกกุหลาบในช่อก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สื่อความหมายได้เช่นกัน และในวันวาเลนไทน์หรือวันไหนๆ ถ้าคุณได้ช่อดอกกุหลาบจากใครสักคน เค้าคนนั้นอาจกำลังต้องการสื่อความหมายอะไรบางอย่างให้คุณรู้ก็เป็นได้
จำนวนดอกกุหลาบ
ความหมาย
1 รักแรกพบ
2 แสดงความรู้สึกที่ดีให้กัน
3 ฉันรักเธอ
7 คุณทำให้ฉันหลงเสน่ห์
9 เราสองคนจะรักกันตลอดไป
10 คุณเป็นคนที่ดีเลิศ
11 คุณเป็นสมบัติชิ้นที่มีค่าชิ้นเดียวของฉัน
12 ขอให้เธอเป็นคู่ของฉันเพียงคนเดียว
13 เพื่อนแท้เสมอ
15 ฉันรู้สึกเสียใจจริงๆ
20 ฉันมีความจริงใจต่อเธอ
21 ชีวิตินี้ฉันมอบเพื่อเธอ
36 ฉันยังจำความหลังอันแสนหวาน
40 ความรักของฉันเป็นรักแท้
99 ฉันรักเธอจนวันตาย
100 ฉันอุทิศชีวิตนี้เพื่อเธอ
101 ฉันมีคุณเพียงคนเดียวเท่านั้น
108 คุณจะแต่งงานกับฉันไหม
999 ฉันจะรักคุณจนวินาทีสุดท้าย

ดอกไม้ของไทย

ดอกขจร


Telosma minor Craib.

(ASCLEPIADACEAE)



ขจร หรือบางทีเรียกว่า สลิด เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยเถาเล็กไม่ใหญ่โตอะไร ใบเล็กออกทึบตามข้อ ดอกสีเหลืองอมเขียว บานเวลาเย็น กลิ่นก็หอมเย็นๆ คนไทยเราใช้ทำแกงส้มดอกขจร ยำดอกขจร แกงจืดดอกขจร ไข่ตุ๋นดอกขจร ข้าวต้มดอกขจร


หรือต้มกับกะทิรับประทานต่างผัก บ้างเก็บมาใช้ร้อยมาลัยและกรองเป็นดอกคล้ายดอกกุหลาบ สุดแล้วแต่โอกาส ปลูกเป็นง่าย เมล็ดก็ได้ กิ่งชำเอาก็ได้



ขจรเป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับโมกและยี่โถ มีถิ่นกำเนิดในเอเซียเขตร้อน พบมากในภาคกลางขึ้นไปจนถึงภาคเหนือ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและใช้ประโยชน์จากดอกและผล ดอกออกดกในฤดูร้อน เป็นช่อกระจุกสั้นๆ ห้อยลง มี 10-20 ดอกในแต่ละช่อ ขนาดดอกประมาณ 1.5 ซม.

ขึ้นลานวัดทัศนาดูอาวาส ศิลาลาดเลียบเดินเนินสังขร

พฤกษาออกดอกช่ออรชร หอมขจรจำปาสารภี

นิราศเมืองเพชร..สุนทรภู่







ขอบคุณภาพสวยจาก www.oknation.net/blog/parjaru/2009/05/01/entry-1